ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะสร้างถนนใหม่เพิ่มสักเท่าไหร่ก็ไม่พอกับความต้องการ เนื่องจากปริมาณการใช้รถที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลของ TomTom Traffic Index เว็บไซต์สถิติด้านการจราจร ที่ได้ออกมาเผยข้อมูลการจราจร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2023 จากการจัดอันดับการจราจรใน 404 เมือง ใน 58 ประเทศ ใน 6 ทวีป พบว่า กรุงเทพฯ ประเทศไทย อยู่อันดับ 17 ของโลกเลยทีเดียว
เท่านั้นยังไม่พอ! เพราะยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ฝนตกแล้วล่ะก็ การจราจรบนท้องถนนก็ยิ่งติดนานมากขึ้นกว่าเดิม หากคุณคือบุคคลที่กำลังเร่งด่วนต้องทำเวลาเพื่อให้ถึงที่หมายโดยเร็ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขับรถฝ่าสายฝนและลุยน้ำท่วมขัง ซึ่งการขับรถลุยน้ำท่วมนั้น ซึ่งทำให้ใครหลายคนกังวลว่า “หากน้ำเข้าเครื่องพังไหม เครื่องยนต์มีโอกาสดับหรือป่าว?” คำตอบก็คือพังแน่นอน!! น้ำเข้าเครื่องยนต์เมื่อไหร่ ก็จะทำให้เครื่องยนต์ดับขณะขับได้
ดังนั้น วันนี้ Dunlop จึงขอนำทริคขับรถลุยน้ำท่วมแบบมือโปรอย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อจบปัญหาขับรถลุยน้ำท่วมแล้วเครื่องยนต์ดับ มาฝากทุกคนกันครับ!
2 สาเหตุรถดับกลางอากาศขณะขับรถลุยน้ำท่วม
- ระบบไฟฟ้าช็อต : น้ำท่วมอาจทำให้ระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์เสียหาย โดยเฉพาะกล่องควบคุมระบบไฟฟ้าหรือ ECU (Electronic Control Unit) ซึ่งเปรียบเสมือนสมองกลของรถ เนื่องจากเป็นตัวควบคุมการสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อกล่อง ECU โดนน้ำอาจเกิดการลัดวงจร ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับและไม่สามารถทำงานต่อได้
- น้ำเข้าเครื่องยนต์ : น้ำอาจไหลเข้าไปในระบบกรองอากาศ (ท่อไอดี) ของเครื่องยนต์ หรือเข้าไปยังห้องเผาไหม้ ทำให้หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเสียหาย หรือมีน้ำเข้าไปในช่องก้านวัดระดับน้ำมันหล่อลื่น ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับกระทันหัน
7 ข้อควรรู้ก่อนขับรถลุยน้ำท่วม เพื่อไม่ให้เกิดอาการรถดับ ขณะขับ
สังเกตระดับความลึกของน้ำ
จริงอยู่ที่การสังเกตด้วยสายตาคร่าวๆ เพื่อวัดระดับความลึกของน้ำขังนั้นไม่แม่นยำ และเสี่ยงทำให้เครื่องยนต์ดับได้ แต่มันก็ยังดีกว่าการที่เราไม่สังเกตอะไรเลยแล้วเหยียบคันเร่งพุ่งเข้าหาน้ำขังแบบไม่เกรงกลัว โดยเราอาจจะสังเกตความลึกของระดับน้ำที่ท่วมจากการวัดระดับความสูงของน้ำกับฟุตบาทข้างทางก่อน
ปกติฟุตบาทจะมีความสูงอยู่ที่ 10 – 20 เซนติเมตร ถ้าน้ำท่วมเลยระดับฟุตบาทแนะนำให้เลี่ยงเส้นทางนั้นจะปลอดภัยกว่า หรือดูจากระดับน้ำท่วมที่ล้อรถ ถ้าหากท่วมประมาณครึ่งล้อยังพอลุยต่อได้ แต่ถ้าท่วมถึงระดับขอบประตูไม่แนะนำให้ลุยเด็ดขาด เพราะน้ำอาจเข้าห้องโดยสารจนทำให้ระบบไฟช็อต เครื่องยนต์ดับได้
ชะลอความเร็วก่อนเจอน้ำท่วม
อย่าลืมว่าการขับรถด้วยความเร็วสูงนั้น ทำให้รถเสียการทรงตัวได้ ดังนั้นก่อนจะถึงจุดที่น้ำท่วมขัง เราควรขับรถด้วยความเร็วต่ำที่สุดและสม่ำเสมอ เลี้ยงรอบให้นิ่งที่สุดประมาณ 1,500 – 2,000 รอบต่อนาที ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดาควรใช้ประมาณเกียร์ 2 ส่วนเกียร์ออโต้ควรใช้เกียร์ L
ปิดแอร์รถยนต์เมื่อเจอน้ำท่วมทันที
การปิดแอร์รถเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากพัดลมแอร์สามารถพัดน้ำเข้าไปในเครื่องได้ ทำให้รถของเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดโอกาสน็อก นอกจากนี้เราควรระวังขยะที่ลอยมากับน้ำด้วย เนื่องจากมันจะเข้าไปติดมอเตอร์พัดลมจนทำให้ระบบระบายความร้อนในเครื่องยนต์พังได้
ลดความเร็วลงเมื่อเจอรถยนต์ขับสวนทางกัน
อย่างที่แจ้งข้อมูลไปก่อนหน้านี้ว่าความเร็วรถทำให้น้ำสามารถกระฉอกเข้าใต้ท้องรถได้ เมื่อเจอรถสวนมา จึงต้องลดความเร็วในการขับขี่ลง เนื่องจากแรงปะทะจากรถที่สวนมาจะทำให้เกิดคลื่นชนกัน น้ำจะสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้น้ำอาจกระฉอกเข้ามาโดนเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าเสียหายได้
รักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้าให้มากกว่าเดิม
เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อขับรถลุยน้ำ จะทำให้ประสิทธิภาพของผ้าเบรกลดลง ส่งผลให้เวลาเบรกนั้นเบรกไม่อยู่ เพื่อความปลอดภัย ควรรักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้าให้มากกว่าเดิม 2-3 เท่า จึงจะปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเบรกกะทันหันแล้วมีระยะเบรกไม่เพียงพอ
สตาร์ทรถทิ้งไว้เมื่อถึงจุดหมาย
หลังจากที่เราขับรถลุยน้ำ เมื่อถึงจุดหมายไม่ควรดับเครื่องยนต์ทันทีโดยเด็ดขาด ควรจอดรถทิ้งไว้ก่อนสักครู่ เพื่อให้น้ำที่ยังตกค้างอยู่ในหม้อพักท่อไอเสียระเหยออกมาให้หมด
ควรย้ำเบรกหรือคลัตช์ เพื่อไล่น้ำ
หากรถเป็นรถเกียร์ออโต้ เราควรย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำออกจากระบบเบรกให้หมด ส่วนรถเกียร์ธรรมดา ควรย้ำคลัตช์ เพื่อป้องกันปัญหาคลัตช์ลื่น เพราะนี่คือข้อควรปฏิบัติหลังขับรถลุยน้ำที่เจ้าของรถทุกคนควรทำหากไม่อยากให้รถมีปัญหาตามมา
เมื่อเครื่องยนต์ดับกลางน้ำท่วม ควรทำอย่างไรดี?
เมื่อขับรถลุยน้ำท่วมแล้วเครื่องยนต์ดับขณะขับ แม้จะเตรียมพร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องรู้วิธีรับมืออย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและผู้โดยสาร
1. ตั้งสติ ห้ามสตาร์ทเครื่องยนต์เด็ดขาด
หลายคนคงเคยเจอสถานการณ์นี้แน่ๆ รถดับกลางน้ำท่วม แล้วรีบสตาร์ทเครื่องยนต์ต่อด้วยความหวังว่ารถจะกลับมาติด แต่รู้หรือไม่ว่า การทำแบบนั้นอาจทำให้เครื่องยนต์พังหนักยิ่งขึ้นได้นะ! เพราะการสตาร์ทเครื่องยนต์ตอนเครื่องยนต์ดับกลางน้ำท่วม อาจทำให้เครื่องยนต์สำลักน้ำและพังหนักยิ่งขึ้น
2. เปิดไฟฉุกเฉิน บอกให้คนอื่นรู้
เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์เครื่องยนต์ดับกลางน้ำท่วม สิ่งสำคัญคือการรักษาความปลอดภัยทั้งต่อตัวเราเองและผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ การเปิดไฟฉุกเฉินเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยที่ช่วยสื่อสารให้ผู้ร่วมทางทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยน้ำท่วมขัง
3. ตรวจสอบว่าน้ำเข้ารถหรือไม่
สังเกตว่ามีน้ำไหลเข้าตัวรถหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นรถ, ประตู, กระจก หากน้ำเข้าตัวรถ ให้รีบปิดเครื่องปรับอากาศ ปิดสวิตช์ไฟต่างๆ และถอดแบตเตอรี่ออก (ถ้าทำได้) และรีบหาผ้ามาอุดช่องว่างที่น้ำอาจไหลเข้าได้ เช่น ช่องใต้ประตู ช่องแอร์
4. ออกจากรถไปยังที่ปลอดภัย
หากพื้นที่ในบริเวณนั้นมีกระแสไฟฟ้ารั่ว อาจเกิดอันตรายอื่นๆ ได้ รีบออกจากรถไปหาที่ปลอดภัย รอให้ระดับน้ำลดลง หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากช่างหรือหน่วยบริการฉุกเฉิน
5. โทรขอความช่วยเหลือ
ติดต่อบริษัทประกันภัย ช่างซ่อมรถ หรือหน่วยบริการฉุกเฉิน แจ้งสถานที่และรอความช่วยเหลือ เพื่อนำรถออกจากพื้นที่น้ำท่วม โดยให้ยกรถให้สูงจากระดับน้ำท่วม ด้วยการใช้แม่แรง หรือหากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์บริการยางดันลอปได้ทั่วประเทศ
ซึ่งถ้าหากว่ารถของเราดับขณะขับรถลุยน้ำ อย่าพยายามสตาร์ทรถเด็ดขาด แนะนำให้เปิดฝากระโปรงรถเพื่อเช็กไส้กรองอากาศก่อนว่าเปียกหรือไม่? ถ้าไส้กรองอากาศไม่เปียกก็แปลว่าน้ำยังไม่เข้าเครื่อง แต่ถ้าไส้กรองอากาศเปียกควรโทร. เรียกช่าง หรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจะดีที่สุด
และนี่ก็คือสาระดีๆ ที่เรานำมาฝากในวันนี้ อย่างไรก็ตาม Dunlop ไม่ได้มีแค่บริการสินค้าและการรับประกันยางรถยนต์เท่านั้น เราพร้อมดูแลคุณทุกสถานการณ์บนท้องถนนด้วยศูนย์บริการตัวแทนจำหน่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุรถเสีย รถยางรั่ว รถสตาร์ทไม่ติด หรืออุบัติเหตุรถชน ติดต่อเราได้ง่ายๆ เพียงค้นหาศูนย์บริการตัวแทนจำหน่าย Dunlop ที่ใกล้ที่สุด หรือติดต่อเราผ่านช่องทางต่างๆ คลิกเลย