ยางรถยนต์ เปรียบเสมือนอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้รถยนต์สามารถยึดเกาะถนนได้อย่างมั่นคง แน่นอนว่าเมื่อดอกยางสึกหรอก็จะส่งผลต่อการขับขี่โดยตรง ทั้งในเรื่องของการยึดเกาะ การเบรก และการควบคุมรถ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
ดังนั้น การทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ดอกยางรถยนต์สึกเร็ว และวิธีป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อยืดอายุการใช้งานของยาง และที่สำคัญคือเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่นั่นเอง
ทำความรู้จักกับ “ดอกยางสึก” คืออะไร?
ดอกยางสึก หมายถึง สภาพที่ดอกยางรถยนต์ค่อยๆ สึกหรอไปจากการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากกระบวนการตามธรรมชาติอย่างการเสียดสีกับพื้นถนนนั่นเอง แต่นอกจากการเสียดสีกับพื้นถนนแล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ดอกยางสึกเร็วขึ้น เช่น การขับขี่ที่รุนแรง การบรรทุกน้ำหนักเกิน การปรับลมยางไม่เหมาะสม สภาพถนนที่ขรุขระ หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดจากระบบช่วงล่างของรถยนต์ เช่น บุชชิ่งเสีย หรือโช้คอัพเสีย ก็สามารถทำให้ดอกยางสึกหรอแบบผิดปกติได้เช่นกัน
ดอกยางสึก ดูยังไง มีความเกี่ยวข้องอะไรกับสะพานยางรถยนต์?
วิธีสังเกตดอกยางสึก มีอยู่ 2 วิธีง่ายๆ เช็กได้ด้วยตัวเอง คือ สังเกตตัวบ่งชี้การสึกหรอของดอกยาง (Tread Wear Indicator) ซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากร่องดอกยาง เมื่อดอกยางสึกจนถึงระดับตัวบ่งชี้ นั่นหมายความว่าดอกยางสึกจนถึงขีดจำกัดและควรเปลี่ยนยางใหม่ทันที ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน คือ เหรียญบาท โดยนำเหรียญบาทสอดเข้าไปในร่องดอกยาง หากเสียบได้เพียงครึ่งเดียวหรือน้อยกว่านั้น ก็คือสัญญาณบ่งบอกว่าดอกยางของคุณสึกจนถึงขีดจำกัดแล้วเช่นกัน
แล้วดอกยางสึก เกี่ยวข้องกับสะพานยางอย่างไร? ต้องบอกว่าสะพานยางหรือช่วงล่างนั้นมีบทบาทสำคัญในการรองรับน้ำหนักของรถและช่วยให้รถเคลื่อนที่ได้อย่างราบรื่น หากสะพานยางมีปัญหา เช่น บุชชิ่งเสีย หรือคันชักเสีย จะส่งผลให้มุมล้อของรถผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดอกยางสึกผิดปกติได้
เช่น ดอกยางสึกไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งค่ามุมล้อที่ไม่ถูกต้อง หรือดอกยางสึกเร็วผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาที่สะพานยาง ทำให้ยางต้องรับแรงกระแทกและแรงเสียดทานมากเกินไป เป็นต้น ดังนั้น เมื่อพบว่าดอกยางสึกผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสึกไม่สม่ำเสมอหรือสึกเร็วเกินไป ควรนำรถเข้าตรวจเช็กสภาพสะพานยางควบคู่ไปด้วย เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
การสึกของดอกยาง มีลักษณะการสึกอย่างไรบ้าง?
การสึกของดอกยางรถยนต์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ดอกยางสึกจนหมดเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะการสึกที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละลักษณะก็บ่งบอกถึงสาเหตุและปัญหาที่แตกต่างกัน ฉะนั้น การสังเกตและเข้าใจลักษณะการสึกของดอกยางจะช่วยให้คุณสามารถระบุปัญหาและแก้ไขได้อย่างถูกต้อง รวมถึงช่วยยืดอายุการใช้งานของยางและเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ได้อีกด้วย โดยลักษณะการสึกของดอกยางที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- ดอกยางสึกสม่ำเสมอ : เป็นลักษณะการสึกที่เกิดขึ้นทั่วทั้งหน้ายาง ซึ่งมักเกิดจากการใช้งานตามปกติและการสึกหรอตามอายุของยาง หากดอกยางสึกสม่ำเสมอจนถึงขีดจำกัดที่กำหนด ก็ควรเปลี่ยนยางใหม่ทันที
- ดอกยางสึกตรงกลาง : เป็นลักษณะการสึกที่เกิดขึ้นแค่ตรงกลางหน้ายาง มักเกิดจากการที่ยางมีความดันลมสูงเกินไป ทำให้ส่วนกลางของยางสัมผัสกับพื้นถนนมากขึ้นและสึกหรอก่อนส่วนอื่นๆ
- ดอกยางสึกบริเวณไหล่ยาง หรือการสึกแบบเหงือกปลาหมอ : มักเกิดจากการที่ยางมีความดันลมต่ำเกินไป ทำให้ส่วนไหล่ยางสัมผัสกับพื้นถนนมากขึ้นและสึกหรอก่อนส่วนอื่นๆ หรืออาจเกิดจากการตั้งค่ามุมล้อที่ไม่ถูกต้อง เช่น มุมแคมเบอร์บวกหรือลบมากเกินไปนั่นเอง แล้วลักษณะการสึกของยางแบบเหงือกปลาหมอเป็นอย่างไร ? ลักษณะการสึกของยางแบบเหงือกปลาหมอ เป็นรูปแบบการสึกหรอของดอกยางที่เกิดจากการที่ดอกยางสึกเป็นซี่ๆ คล้ายๆ กับเหงือกปลาหมอ หรือคล้ายกับฟันเลื่อย เรียกอีกอย่างว่า การสึกแบบ cup and saucer (ถ้วยและจานรอง) นั่นเอง
วิธีป้องกันไม่ให้ “ดอกยางสึก” ก่อนเวลาอันควร
การดูแลรักษายางรถยนต์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานนั้นสำคัญมาก ซึ่งการตรวจสอบและปรับลมยางให้ถูกต้องตามคู่มือรถยนต์เป็นประจำจะช่วยป้องกันการสึกหรอของยางที่ไม่สม่ำเสมอได้ หรือการหมุนยางตามระยะทางที่กำหนดก็จะช่วยให้ยางสึกเสมอกัน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ที่รุนแรง เช่น การเร่งและการเบรกกระทันหัน และสุดท้าย การตรวจสอบดอกยางเป็นประจำจะช่วยให้คุณสังเกตเห็นสัญญาณการสึกหรอของยางได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถนำรถเข้าซ่อมบำรุงได้ทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันไม่ให้ดอกยางสึกก่อนเวลาอันควรที่ได้ผลดีที่สุด คือ เลือกใช้ยางที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะยางรถเก๋ง ยางรถกระบะ หรือแม้แต่ยางรถบรรทุก เพราะยางที่มีคุณภาพดีจะช่วยให้รถสามารถยึดเกาะถนนได้ดีขึ้น และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นนั่นเอง